ที่ตั้ง : จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.ยะลา
สร้างสันติภาพผ่าน พลัง 3ดี
ติดต่อ : www.iamchild.org / www.facebook.com/iamchildpage
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกตอกย้ำว่าเป็นพื้นที่ในสภาวการณ์ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข่าวในสื่อกระแสหลัก ที่นำเสนอภาพข่าวแห่งความรุนแรง เป็นส่วนน้อยที่จะมีการเสนอภาพข่าวที่เป็นด้านบวก แต่ผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ก็ยังคงอยู่ด้วยกันอย่างปกติ แม้ว่าการใช้ชีวิตประจำวันจะถูกกดดันด้วยความหวาดกลัวจากสื่อ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กจัดทำ “โครงการพลังเด็ก – เยาวชนผสานชุมชนเข้มแข็ง สร้างพื้นที่สุขภาวะเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” ซึ่งนำโดยเด็กเยาวชน จนเกิดความเปลี่ยนแปลง นั่นคือสามารถประสานรอยร้าวความแตกแยกของหมู่บ้านที่เกิดจากภาวะการเมือง ให้กลับมามีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ดึงเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงจากนักสูบ – นักเสพยารุ่นใหม่มาสู่กิจกรรมสร้างสรรค์ มีภูมิคุ้มกันจากอบายมุข ขับเคลื่อนหมู่บ้านชุมชนสู่สุขภาวะดี ผ่านการขับเคลื่อนโดยใช้หลักคิดหรือ “เครื่องมือ 3 ดี” เพื่อ ขับเคลื่อนตำบลต้นแบบในการพัฒนาเด็กโดยพลังเด็กและเยาวชน และเครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการสร้างกระแสคลื่นสร้างสรรค์สันติภาพโดยคนในพื้นที่ ดังต่อไปนี้
1.บ้านบาโงปะแต ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
บ้านบาโงปะแต ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากชุมชนอื่นทั้งความรุนแรงและยาเสพติด ส่งผลให้เยาวชนส่วนใหญ่ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว ต่างคนต่างอยู่ บ้างก็เสพยา จนเหลือกลุ่มเยาวชนน้ำดีน้อย เริ่มจากกลุ่มเยาวชนนี้ รวมตัวกันเล่นกีฬา สอนฟุตบอล และเริ่มไปแข่งขันกับตำบลอื่นๆ ในที่สุดก็สามารถดึงเด็กออกจากยาเสพติดได้สำเร็จ ต่อยอดไปสู่การใช้สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง อบรมและพัฒนาทักษะการผลิตสื่อที่ใช้จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจกับเด็กๆ เมื่อกลุ่มเริ่มใหญ่ขึ้นจึงต้องมีพื้นที่สำหรับรวมตัวกันทั้งการพูดคุยแลกเปลี่ยน จนสุดท้ายก็เกิดร้านน้ำชาสำหรับเยาวชนเกิดขึ้นในตำบล ด้วยความร่วมมือของชุมชน เพราะเมื่อก่อนร้านน้ำชาเป็นร้านผู้ใหญ่ เยาวชนรวมตัวกันลำบาก กลัวทหาร พอมีร้านน้ำชาของเด็กเยาวชนเกิดขึ้น จึงกลายเป็นพื้นที่รวมตัวกันทั้งกลุ่มเยาวชนและคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ให้คนออกมาพบปะพูดคุยกันมากขึ้น ลดช่องว่างของคนในชุมชนได้
2. บ้านปุ – กอลี ต.ตะโลดือรามัน อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี
ใช้พื้นที่มัสยิดในการทำกิจกรรมและสื่อสารเรื่องราวดีๆ ของเยาวชน โดยมีผู้ใหญ่ในชุมชม ร่วมทำกิจกรรมด้วย จุดประกายแรกด้วยการทำความสะอาดมัสยิด เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้พูดคุย ทำงานที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ค่อยๆ ดึงเยาวชนออกจากยาเสพติดได้สำเร็จ ใช้มัสยิดเป็นที่นอน ที่เรียนรู้ และที่รวมตัวของทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน ต่อยอดไปสู่การเลี้ยงวัวเพื่อนำปุ๋ยขี้วัวไปขาย สร้างรายได้ให้กลุ่ม
ภายในมัสยิดมีโรงเรียนตาดีกา แบ่งกันเรียนการสอนศาสนา เมื่อกลุ่มเยาวชนมากขึ้นก็เริ่มปรับพื้นที่ให้ดีขึ้น มีมุมเล่นให้เด็กๆ โต๊ะเก้าอี้ให้พ่อแม่ ที่มารอรับลูกได้พูดคุยกัน มีการขยายสหกรณ์โรงเรียน เปิดร้านขายน้ำชาให้กับคนที่มารอละหมาด สร้างความรับผิดชอบให้กับเด็กๆ และต่อยอดสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน
3. บ้านช่องแมว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
พื้นที่สร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ชุมชนนี้ต้องการ ด้วยสถานการณ์รุนแรง พื้นที่มีแต่ป่า ทำให้เด็กไม่มีที่เล่น กลุ่มผู้ใหญ่ใจดีและเหล่ากลุ่มเยาวชนอาสา ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ชวนชาวบ้านมาร่วมออกแบบพื้นที่ จนได้ภาพร่างและช่วยกันปรับผืนป่าให้กลายเป็นสนามเด็กเล่น แปลงปลูกผัก บ่อน้ำสำหรับเลี้ยงปลา เมื่อมีพื้นที่พ่อแม่ก็เริ่มคุยกัน เกิดความสัมพันธ์ของคน 3 วัย มีกิจกรรมเรียนรู้ การสานที่รองหม้อ ตะกร้า ให้กับเยาวชน เด็กๆ มีพื้นที่เล่นไม่ต้องถูกงูกัด ไม่ต้องถูกรถชนอีกต่อไป
4. ศูนย์จริยกรรมบ้านจารูนอก ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา
ชุมชนจารูนอก เป็นชุมชนเมืองในย่านตลาดเก่า เป็นศูนย์กลางการค้าของจังหวัดยะลา โดยใช้พื้นที่สร้างสรรค์เป็นตัวกลางในการรวมผู้คน โดยเริ่มต้นจากตัวแทนชุมชน ครูโรงเรียนตาดีกา ได้เข้าร่วมโครงการกำปงซือแน หรือ หมู่บ้านแห่งความสุข ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 – 2556 กระบวนการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมที่ชุมชนแห่งนี้นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ ตั้งแต่การชวนคนในพื้นที่รวมถึงเด็กเยาวชนมาช่วยกันออกแบบ ลงมือปรับพื้นที่ สร้างทุกอย่างรวมกัน ตั้งแต่ทำของเล่น เครื่องเล่น และการสร้างพื้นที่ทำให้เชื่อมเครือข่ายการทำงานทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน กลุ่มเยาวชน สภาเด็กและเยาวชน ศิษย์เก่า จนพื้นที่แห่งนี้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนได้