
“ยงยุทธ” ยกพื้นที่รองเมือง ต้นแบบโมเดล “เมือง 3 ดี” ดึงเยาวชนหลุดจากปัจจัยเสี่ยงในชุมชน ประกาศสานฝันเด็กไทย ผลักดันสู่นโยบายระดับชาติ “สสส.” ปักหมุดขยายพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็กทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 3 เมษายน ณ บริเวณย่านถนนรองเมือง (ข้างกำแพงสถานีรถไฟหัวลำโพง) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายรองเมืองเรืองยิ้ม อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ไปรษณีย์ไทย จัดงาน “รองเมือง…เรืองยิ้ม” ตอน ปทุมวัน…ปันยิ้ม โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมรับข้อเรียกร้องจากเด็ก เยาวชน ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์ เมือง 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี เพื่อเป็นกลไกให้เยาวชนได้มีพื้นที่เชิงบวก ในการสร้างสรรค์กิจกรรม เรียนรู้ทักษะชีวิตและพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง
ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า เด็ก เยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้มีสุขภาวะที่ดี มีการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพที่เหมาะสม เพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี ที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการอยู่นับเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ โดยให้เด็กเป็นผู้สร้างสรรค์สื่อและเรียนรู้จากชุมชน ขณะเดียวกันก็ดึงภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนอกจากเด็กได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวและชุมชน และเป็นโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม มาร่วมมือกันในการฟื้นฟูสิ่งดีๆ ในชุมชนให้กลับคืนมา จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่รองเมืองแห่งนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่ายุทธศาสตร์เมือง 3 ดี ช่วยทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงและปัญหาภายในชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนในหลายมิติ ตนเชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันลักษณะนี้ทุกชุมชน ทุกจังหวัด จะช่วยสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางสังคมอย่างดียิ่ง ในนามรัฐบาลพร้อมสนับสนุนให้เกิดความครอบคลุมในระดับท้องถิ่น และขยายไปสู่นโยบายระดับชาติต่อไป
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เมือง 3 ดี คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่หรือชุมชนใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. สื่อดี มีสื่อทั้งกระแสหลัก/สื่อท้องถิ่นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับทุกคน 2. พื้นที่ดี ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบและใช้ประโยชน์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และ 3. ภูมิดี มีทักษะคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ เป็นภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชน ปีที่ผ่านมา สสส.ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี ทำให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ 24 โครงการ รวม 107 พื้นที่ ใน 38 จังหวัด อาทิ จ.เพชรบุรี นครราชสีมา อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ มีเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า 5,000 คน ครอบครัวเข้าร่วมกว่า 20,000 คน เกิดแกนนำเด็กเยาวชนที่มีบทบาทเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นในชุมชน และดึงดูดให้ผู้ใหญ่เข้ามามีบทบาทพัฒนาพื้นที่ แก้ปัญหาอบายมุขและลดพื้นที่เสี่ยงสำหรับเด็ก ในบางพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ พลังของเด็กยังช่วยเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวกลดความขัดแย้งลงอย่างได้ผล นอกจากนั้นยังส่งผลไปถึงการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและครอบครัว เช่น ชุมชนสะพานปลา จ.สมุทรปราการ พัฒนา จากพื้นที่ทิ้งขยะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน โดยการดำเนินงานในระยะต่อไปของ สสส. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ ทำงานเชิงรุกเชื่อมกับทุกภาคส่วน เพื่อขยายพื้นที่สร้างสรรค์เมือง 3 ดี ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
“สำหรับชุมชนวัดดวงแข และชุมชนโดยรอบพื้นที่รองเมืองแห่งนี้ มีการปรับสภาพแวดล้อมบ้านเรือนและชุมชน ผ่านงานศิลปะและกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มจากแกนนำเด็กที่เข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาสื่อที่เหมาะสม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานเพื่อชุมชน เกิดเป็นกลุ่มอาสาสมัคร ครบครัวอาสาสมัคร เยาวชนอาสา อาสาสมัครจากธนาคารจิตอาสา อาสาสมัครจากภาคธุรกิจ ประชาสังคม กว่า 700 คน” ทพ.กฤษดา กล่าว
รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า มูลนิธิฯ นำแนวคิดเมือง3ดีวิถีสุข มาทำงานร่วมกับ 4 ชุมชนในย่านนี้ คือ ชุมชนวัดดวงแข ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เพื่อนชุมชนข้างเคียงประกอบด้วย ชุมชนจรัสเมือง ตรอกสลักหิน และแฟลตรถไฟ พร้อมกับสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของทุกชุมชนในเขตปทุมวันรวม 17 ชุมชน การทำงานเน้นกระบวนการสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ถนนรองเมือง ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2556 มีการดำเนินการ อาทิ เชิญชวนครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรม “เมนูเรืองยิ้ม” ให้เด็กได้รับความรู้เรื่องโภชนาการ การรับประทานอาหารเช้า และอาหารที่มีประโยชน์ กิจกรรม “ร้านเรืองยิ้ม” เกิดจากที่เด็กๆ ได้ลงพื้นที่สำรวจร้านอาหารอร่อย สะอาด ราคาเหมาะสม มาคัดเลือกพร้อมมอบใบประกาศและจัดทำเป็นแผ่นพับเผยแพร่ จัดประกวด “บ้านเรืองยิ้ม” ส่งเสริมสุขอนามัยบ้านและชุมชนที่สะอาดและปลอดภัย ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดเป็น “ชุมชนเรืองยิ้ม” ที่มีการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนให้สะอาด สวยงาม แต่งแต้มสีสันบนกำแพงตลอดทางเดินในชุมชน จากนั้นมีการพัฒนาพื้นที่รอบๆ ชุมชน คือ “กำแพงหัวลำโพงเรืองยิ้ม” ที่มีแต่ขยะ กลิ่นเหม็น น่ากลัวในเวลากลางคืน มาเป็นกำแพงที่สวยงาม สดใส เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ให้กับเด็ก เยาวชน และชาวชุมชนในขณะนี้
29 พ.ค. เยาวชนบางกอกนี้…ดีจัง และชุมชนวัดอัมพวา จัดกิจกรรม อัยย๊ะ เยาวชนเปิดท้าย สไตล์สื่อสร้างสรรค์ โดยรวมพลเยาวชนจาก 3 พื้นที่ นั่นคือบางพลัด บางกอกใหญ่ บางกอกน้อย เปิดท้ายสื่อสร้างสรรค์ บอกเล่าเรื่องดีๆ กิจกรรมดีๆ เด็กๆมีพื้นที่ได้เล่น ผู้ใหญ่มีพื้นที่ยิ้ม ขับเคลื่อนชุมชนให้มีชีวิต ด้วย 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี โดยการสนับสนุนของเครือข่ายบางกอกนี้…ดีจัง มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และสถาบันสือเด็กและเยาวชน ติดตามกิจกรรม https://www.facebook.com/profile.php?id=100005934120805&fref=photo
“…เขาก็แสวงหาเพื่อน เราเองก็ต้องการเพื่อน มันจึงลงตัวพอดี พอเขาเห็นกิจกรรมที่เราทำ เขาก็อยากทำงานกับเรา ถ้าใครจะทำงานกับพี่นัดมาเลย ไม่ต้องคอยหลายวัน นัดแล้วลงมือทำงานร่วมกันเลย” เตือนใจ สิทธิบุรี หรือ หลายๆคนเรียกเธอว่า “ป้าป้อม” อดีตนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยวิทยาลัยรามคำแหง สั่งสมประสบการณ์การทำงานพัฒนาและงานค่ายกิจกรรมเห็นต้นทุนทางสังคมของบ้านเกิดจึงมุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้ ฟื้นฟูวัฒนธรรม และเชื่อมโยงคนในชุมชน ทั้ง 3 วัยมาเป็นครอบครัวเดียวกัน เริ่มทำงานครั้งแรก ในปี 2530 กับกลุ่มสื่อเพื่อการพัฒนา (AMED) ทำงานกับชาวบ้านในชุมชนแออัด ได้ฝึกกระบวนการคิด และกระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ จนถึงปี 2536 เปลี่ยนมาทำงานที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีโอกาสเดินทางไปการทำงานในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ทำให้เพิ่มพูนทักษะ เทคนิคการทำงานพัฒนา การประสานงานในพื้นที่ และมีเครือข่ายการทำงานมากขึ้น ก่อนกลับมาเป็นบัณฑิตอาสา กับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรมประชาสงเคราะห์เดิม) และร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ ในการทำงานพัฒนาที่บ้านเกิด ในตำบลนาโหนด จังหวัดพัทลุง ทำให้เห็นทุนทางสังคม และศักยภาพของพื้นที่ในด้านเกษตร เกิดตกผลึกทางความคิด จึงตัดสินใจตั้งหลักปักฐานสร้างครอบครัว ที่บ้านเกิดของตนเอง ด้วยการยึดอาชีพเกษตร ทำสวนยาง ทำนา ทำสวนเป็นหลัก ควบคู่การทำงานพัฒนาในชุมชนท้องถิ่น […]
สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน จัดสัมมนาทบทวนบทเรียนการทำงานพื้นที่สร้างสรรค์ “พบปะเพื่อนภาคี 3ดี 4ด้าน ผสานพลังยิ้ม” ที่ ร.ร.บางกอกเซนเตอร์ ห้องอัญมณี วันที่ 25 – 26 ก.พ. โดยมีภาคีเครือข่ายในยุทธศาสตร์พื้นที่สุขภาวะ 3 ดีต้นแบบ เมืองสื่อสร้างสรรค์ และ พื้นที่นี้..ดีจัง รุ่น 1-2 รวมทั้งสิ้น 35 โครงการ จำนวน 150 คน เข้าร่วมทบทวนบทเรียน อนึ่งการจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะทบทวนสรุปบทเรียนเสริมพลังการทำงานเชิงแนวคิดและเชิงปฎิบัติการพื้นที่สร้างสรรค์ 3 ดีแล้ว ยังแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานพื้นที่สร้างสรรค์ในแต่ละพื้นที่ แต่ละโครงการ และระดมสมองร่วมกันกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์พื้นที่สุขภาวะร่วมกันต่อไป
มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์: เรื่องกินเรื่องใหญ่ ที่ตลาดไนต์บาซาร์มหาสารคามสุดคึกคัก ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 60 ที่ตลาดไนต์บาซาร์มหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงาน งานมหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุจิน บุตรดีสุวรรณ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายสิทธิเดช ผงสิริ แกนนำเยาวชนอีสานตุ้มโฮม นิสิตนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเครือข่ายเยาวชนอีสานตุ้มโฮมจากพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อุดรธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ร่วมกันจัดกิจกรรม “มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์: เรื่องกินเรื่องใหญ่” ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของวิถีภูมิปัญญาอีสาน และได้นำเสนอผ่านวิถีอาหารพื้นบ้าน ศิลปะสร้างสรรค์ และสื่อพื้นบ้าน ซึ่งเป็นผลงานความสามารถของเด็กและเยาวชนที่ได้ร่วมกันจัดขึ้น “มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์: […]