Warning: "continue" targeting switch is equivalent to "break". Did you mean to use "continue 2"? in /home/samdeeorg/domains/samdee.org/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/admin/admin-interface.php on line 350
นูรฮีซาม บินมามุ รอยยิ้มของแว้ง | ชุมชน 3 ดี
นูรฮีซาม บินมามุ รอยยิ้มของแว้ง

หากชวนใครสักคนล่องใต้ สู่ดินแดนปลายด้ามขวาน ยะลา นราฯ ปัตตานี เขาคนนั้นคงคิดทบทวนอยู่หลายตลบ เพราะข่าวคราวความรุนแรงที่มีให้เห็นในสื่อหลักแขนงต่างๆ น่ากลัวน้อยซะที่ไหน… แต่หากตั้งจิตมั่นสักนิด แล้วค่อยๆ มองลึกฝ่ากลุ่มควันของระเบิดเข้าไป เขาคนนั้นจะเห็นถึงความสวยงามของวัฒนธรรม และธรรมชาติ และหากฟังลึกทะลุกัมปนาทปืนเข้าไป เราจะได้ยินเสียงหัวเราะ…

ผมในฐานะบุคคลหนึ่งที่มีถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดนราธิวาส แม้จะมาตั้งหลักหาเลี้ยงชีพยังเมืองหลวง แต่ก็เดินทางไปร่วมกิจกรรมในพื้นที่บ่อยครั้ง เมื่อถูกถามว่า “ไม่กลัวหรือ?” ผมมักตอบกลับ เป็นเชิงชักชวนให้ลงไปเที่ยวด้วยกัน เหมือนดั่ง ซัม – นูรฮีซาม บินมามุ ประธานกลุ่ม ‘ยังยิ้ม – Youth Smile’ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ทำเสมอ เมื่อเดินทางไปร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย

*นูรฮีซาม บินมามุ

ไม้งาม น้ำตก นกเงือก

สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซัม ไม่ปฏิเสธ เพราะมีอยู่จริง แต่เมื่อถูกข่าวตีแผ่ออกไป สังคมภายนอกจึงมองเหมารวมว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันตราย น่ากลัว ทั้งๆ ที่มีอีกหลายแห่งที่สงบ สวยงาม น่าเยี่ยมชม อย่าง ป่า ฮาลา – บาลา พื้นที่ส่วน อ.แว้ง จ.นราธิวาส บ้านเกิดของเขา

“แว้ง เป็นอำเภอที่สวยงาม มีเรื่องเล่าเก่าๆ ทรัพยากรที่มีคุณค่า ดั่งคำขวัญที่ว่า ‘ไม้งาม น้ำตก นกเงือก’

“ผมขอพูดถึง ไม้งาม ก่อน ก็คือ ป่าฮาลา – บาลา ซึ่งเป็นป่าดิบชื้น ที่สมบูรณ์มากๆ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัย แต่ที่เด่นๆ คือ นกเงือก ที่นี่สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ เพราะในส่วนการเรียนรู้มีถึง 3 สถานีด้วยกัน คือ  หนึ่ง. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา – บาลา สอง. สถานีวิจัยนกเงือก  และสาม. สถานีเพาะพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งมีหลากหลายชนิด ที่เด่นๆ ก็คือ ดอกดาหลา ทุกๆ ปีงานพืชสวนโลก ที่เชียงใหม่ จะลงมาเก็บดอกดาหลาที่นี่ไปจัดแสดง

“ส่วน น้ำตก ก็คือ น้ำตกสิรินธร ซึ่งสวยงามมาก…นอกจากนี้ ยังมีอีกที่หนึ่งนะ ชื่อ ‘น้ำตกสายรุ้ง’ ซึ่งอยู่ลึกมาก เป็นน้ำตกที่สวยมากๆ ชาวบ้านเรียกว่า ‘ลาตอ ดือบู’ ภาษามลายู ‘ดือบู’ แปลว่า ‘ฝุ่นละออง’ เพราะพอน้ำตก ตกกระทบแผ่นหิน จะเกิดเป็นละอองฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ยืนอยู่เฉยๆ ไม่ต้องลงไปอาบน้ำ ก็เปียกหมดทั้งตัว

“สุดท้าย นกเงือก ที่นี่มีนกเงือกอาศัยอยู่ ถึง 11 ชนิด จาก 13 สายพันธุ์ในไทย บางคนไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับนกเงือก ทำไปเพื่ออะไร แต่จริงๆ แล้ว นกเงือกเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าไม้ เพราะถ้าป่าไหนมีนกเงือกแสดงว่าต้องอุดมสมบูรณ์มากๆ ไม่ใช่แค่อุดมสมบูรณ์ แต่ต้องอุดมสมบูรณ์มากๆ” เขาเน้นคำช้าๆ ช่วงประโยคท้าย

ทุกๆ ว่าง ของซัม เป็นต้องสะพายกล้อง พกสมุดบันทึกเข้าป่าฮาลา – บาลา จดสิ่งที่ได้เรียนรู้ และถ่ายภาพนกเงือกเก็บไว้เสมอ และทุกครั้งที่มีโอกาส เขามักอาสาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมกับกลุ่มต่างๆ เป็นประจำ นอกจากนี้พื้นที่หลังบ้านยังเป็นสถานที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ของเยาวชนอีกด้วย เพราะอยู่ใกล้สนามกีฬา ซึ่งเด็กๆ สามารถเข้ามานั่งอ่านหนังสือ หรือวาดภาพ เล่นดนตรีได้อย่างสบายใจ

วันหนึ่ง ซัมเอ่ยถามเด็กๆ ว่า “รู้ไหมคำขวัญของแว้งคืออะไร?” – “ไปฮาลา – บาลา ทำอะไรบ้าง” คำตอบที่ได้ คือ ไม่รู้ และไปเล่นน้ำตกแล้วก็กลับ

“ปลายปีที่แล้ว ผมไปส่งท้ายปีเก่าที่ป่าฮาลา-บาลา นั่งดูดาวตรงจุดชมวิวเพลินๆ จู่ๆ เกิดไอเดียขึ้นมาว่า เอ๊ะ! เมื่อวานได้ถามเด็กที่บ้านเกี่ยวกับป่าฮาลา-บาลา แต่เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงฉุกคิดขึ้นว่า ต้องทำอะไรสักอย่างให้กับบ้านเราแล้วละ จึงได้รวมกลุ่มน้องๆ มาทำกิจกรรม”

IMG_0082 IMG_0019

ยังยิ้ม

หลังคืนที่ดาวเต็มฟ้า พร่างพรมอยู่เหนือผืนป่าฮาลา – บาลา อันอุดมสมบูรณ์ (มากๆ) ซัมได้นำความคิดไปปรึกษารุ่นพี่ (วีรวรรณ กังวานนวกุล) จากกลุ่มเครือข่ายพื้นที่นี้ดีจัง ภายใต้การดูแลของ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กระทั่งเกิดเป็นกลุ่ม  ‘ยังยิ้ม – Youth Smile’ ขึ้นมา

“ยังยิ้ม มองได้ 2 ประเด็น ‘ยัง’ ตัวแรก มาจาก Young ซึ่งหมายถึงเยาวชน คนหนุ่มสาว ที่มีรอยยิ้ม มีความสุข ส่วน ‘ยัง’ ตัวที่ 2 มาจากประเด็นที่เราอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ใครๆ มองว่าน่ากลัว แต่อย่างไรก็ตาม เรายังยิ้มได้” ซัมกล่าว

รูปแบบของกลุ่ม เน้นงานด้านศิลปะ เพื่อเสริมสร้างสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเยาวชน และสามารถนำเรื่องราวดีๆ ไปบอกต่อได้ โดยเขาบอกว่า เสมือนการสร้างพนักงานขายขึ้นมา 1 กลุ่ม

“ผมพยายามบอกกับเด็กๆ ว่า ให้เปรียบ อ.แว้ง เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ทำอย่างไรก็ได้ให้ขายของให้ได้ ซึ่งการที่จะขายสินค้า คุณต้องรู้รายละเอียด คุณสมบัติของสินค้าอย่างครบถ้วนเสียก่อน เมื่อรู้แล้ว เรื่องราวเหล่านั้นก็จะซึมซับเข้าสู่ตัวเขา และสามารถนำเสนอขายให้คนนอกพื้นที่ได้ด้วย ฉะนั้นเด็กจะมองออกว่า เออ! ถ้าไปกรุงเทพฯ หรือหาดใหญ่ก็ตามแต่ เมื่อมีคนถาม เขาจะตอบ และนำเสนอสิ่งดีๆ ของแว้งได้”

ในส่วนรูปแบบ ซัมอธิบายว่า เขาได้เข้าไปยังโรงเรียนมัธยมทั้ง 4 แห่งของ อ.แว้ง ชักชวนแกนนำ มาโรงเรียนละ 7 – 8 คน เพื่อเป็นแกนนำขับเคลื่อน เริ่มด้วยการเข้าค่ายเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ต่อจากนั้น นำแกนนำที่ได้ทั้ง 30 คน กระจายลงสู่ระดับประถมศึกษา ไปบอกต่อน้องๆ ให้รักและหวงแหนบ้านเกิดของตัวเอง หลังจากนั้นจึงออกนอกพื้นที่กับรูปแบบกิจกรรมที่ขยายใหญ่ขึ้น

“ตอนนี้เด็กๆ รู้แล้วว่า แว้งมีข้อดีอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มเด็กเริ่มแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ” ประธานกลุ่มบอกพร้อมรอยยิ้ม

กิจกรรมที่ซัมนำมาใช้กับกลุ่มเยาวชน คือ ศิลปะที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในป่าฮาลา – บาลา เช่น เพ้นท์สีก้อนหิน ทำที่คั่นหนังสือ ใบไม้สีทอง ทำที่เสียบดินสอด้วยไม้ไผ่แกะสลักรูปนกเงือก เป็นต้น

IMG_0005 IMG_5508 IMG_5461

อุปสรรค และรอยยิ้ม

ผลของการรวมกลุ่มยังยิ้ม ซัมบอกว่า “ก่อนหน้านี้ เด็กเลิกเรียน กลับมาบ้านก็ไม่มีอะไรทำ เที่ยวเตร่ไปตามประสา แต่พอเกิดกลุ่มขึ้นมา เด็กเลิกเรียนกลับถึงบ้าน จะรีบเข้ามาที่ทำการของยังยิ้มทันที ก็คือที่บ้านของผมเอง ซึ่งมีหนังสือให้อ่าน มีกิจกรรมให้เล่น มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เป็นต้น ผู้ปกครองก็สบายใจ ไม่ต้อกลัวว่าลูกๆ จะไปเถลไถลที่ไหนอีก”

การทำงานย่อมมีอุปสรรค โดยเฉพาะกับเยาวชน ซึ่งมักถูกมองจากบุคคลภายนอกว่า หากินกับเด็ก

“ก็มีบ้างที่ผู้ใหญ่บางคนเข้าใจผิด คิดว่าผมได้รับทุนมาก้อนหนึ่ง เพื่อมาทำค่ายเยาวชน แล้วส่วนต่าง เอาเข้ากระเป๋า บางทีก็ท้อนะ แต่ต้องอาศัยเวลาพักผ่อน ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 1 สัปดาห์ครับ เพราะจะมีเด็กๆ มาถามหาที่บ้านว่า ทำไมช่วงนี้ไม่เห็นเลย? ก็จะบอกเขาไปว่า ไม่สบาย แต่หายแล้ว…หายเพราะคำถามเขานั่นแหละ ตอนนี้ยอมรับว่าเหนื่อย แต่เมื่อก่อนช่วงเริ่มต้นเหนื่อยกว่านี้เยอะ ฉะนั้นจึงถือว่าสบายมาก อีกอย่างตอนนี้มีน้องๆ มาช่วยบ้าง ดีขึ้นมากครับ”

นอกจากความเป็นห่วงจากน้องๆ เยาวชนแล้ว เรื่องราวหนึ่งซึ่งเปลี่ยนวิถีของเด็กเกเรให้กลายเป็นที่รักของชุมชนได้ ก็เป็นอีกแรงเสริมกำลังใจให้กับประธานกลุ่มยังยิ้ม

“ในกลุ่มมีเด็กคนหนึ่งเกเรมากๆ เรียกได้ว่า ครบถ้วนเรื่องเกเรเลย ไม่เรียนหนังสือ ติดยาเสพติด เที่ยว ผมเริ่มสังเกตเขาตั้งแต่ครอบครัวแล้วพบว่า พ่อแม่ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าลูกจะไปไหน จนเรียนไม่จบ ผมจึงดึงเด็กคนนี้มาช่วยงานในกลุ่ม ให้เขามีกิจกรรมทำ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง จากเมื่อก่อนนี้ ถ้าเขาไม่อยู่บ้าน ทุกคนในหมู่บ้านจะดีใจมาก แต่ทุกวันนี้ใครๆ ก็อยากเข้าหา” เมื่อซัมเล่าจบ พบว่านอกจากริมฝีปากแล้ว แววตาของเขาก็ยังส่งยิ้มออกมาให้เห็น

IMG_0623 IMG_0235

ก้าวต่อไปของยังยิ้ม

จะว่าไปแล้ว ยังยิ้ม นับว่าก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะเพิ่งก่อตั้งเมื่อต้นปี 2556 ซัมบอกว่า เป็นเพราะสื่อสังคมออนไลน์ด้วยส่วนหนึ่งที่กระจายเรื่องราวดีๆ ของพวกเขา

“ตอนนี้บอกตามตรงเลยว่า ถ้าปล่อยเด็กนะ เขาจะสร้างงานของตัวเองได้กว้างมาก แต่ผมยังไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นก่อน อยากให้แข็งแรงมากกว่านี้อีกหน่อย ตอนนี้เด็กของเรามีความคิดต่อป่าฮาลา – บาลา อีกมิติหนึ่ง จากเมื่อก่อน ไม่เห็นคุณค่า แค่ไปเที่ยวน้ำตกเฉยๆ แต่เดี๋ยวนี้พอพวกเขาไปจะต้องติดสมุดโน้ตไปด้วย เพื่อจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ และเรียนรู้เรื่องเฟิร์น เรื่องดอกดาหลา อย่างสนใจ ซึ่งก็ต้องค่อยๆ ซึมซับกันไปครับ

“เมื่อกลุ่มเราแข็งแรงแล้ว ผมวางไว้ว่า จะไปจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความรู้ กับกลุ่มเครือข่าย ของ สสย. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และทั้งนี้ต้องขอขอบคุณหมู่มิตรทุกๆ คน ที่เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เดินทางเพื่อสร้างรอยยิ้มให้เด็กๆ ซึ่งจะเติบโตอย่างสร้างสรรค์ในวันข้างหน้าต่อไป”

ระหว่างพูดคุย ซัม บอกว่า ให้เดินป่ายังง่ายเสียกว่า ติดต่องานที่ต้องดำเนินเรื่องผ่านเอกสาร เพราะตัวเองไม่ถนัดด้านนี้ แต่ก็ยินดีปฏิบัติ เนื่องจากทราบดีว่า เป็นข้อระเบียบ แต่วอนว่า อย่างไรเสียถ้าขาดตกพกพร่องอันใดก็ต้องขอคำแนะนำมา ณ ที่นี้ด้วย

เรื่องราวดำเนินมาถึงท้ายหน้ากระดาษ ซัม ได้ฝากถึงการทำงานสร้างสรรค์ว่า

“งานสร้างสรรค์สังคม ไม่จำเป็นต้องสร้างค่าย ออกค่าย แม้อยู่บ้านเราก็ทำงานสร้างสรรค์ได้ โดยชวนเพื่อนๆ ไปอ่านหนังสือตามมุมต่างๆ หรือหมุนเวียนไปอ่านหนังสือ วาดรูป ร้องเพลงตามบ้านเพื่อนๆ บ้างก็ได้ พยายามสร้างงาน อยากจะให้ทำงานสร้างสรรค์ในหมู่บ้านเราก่อน แล้วเราจะสนุกกับมันเอง”

เมื่อจบการสนทนา เช่นเดิม…เหมือนทุกๆ ครั้ง ซัม ชักชวนช่างภาพหนุ่มของเราไปเก็บภาพนกเงือก ณ ป่าฮาลา – บาลา ลอบมองแววตาแล้ว ช่างภาพสนใจอยู่ไม่น้อย และแล้วรอยยิ้มก็ผุดขึ้นบนใบหน้า ก่อนตอบว่า “อยากไป”

IMG_5444 IMG_5448

*********

TIP

ฮาลา – บาลา เป็นป่าผืนสุดท้ายปลายด้ามขวานซึ่งเป็นป่าดงดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forest) ในคาบสมุทรมลายูที่มีความสมบูรณ์โดดเด่นและมีค่ายิ่ง ด้วยลักษณะสังคมพืชที่แตกต่างจากป่าดงดิบอื่นที่พบในประเทศไทย ลักษณะพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์ไม้สำรวจพบใหม่และพบที่เดียวในโลก เช่น ใบไม้สีทอง และเป็นแหล่งกำเนิดของ ‘ดาหลาดอกขาว’

ป่าฮาลา-บาลา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ป่าฮาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และป่าบาลา พื้นที่ครอบคลุมอำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

คำว่าบาลา-ฮาลา  เป็นภาษา มาลายู  ตามพจนานุกรมภาษารูมี ‘บา ลา’ แปลว่า กลุ่มคนทหาร หรือหน่วยอื่นๆ ‘ฮาลา’ แปลว่า ทิศทางมุ่งไปสู่ เช่น ทิศทางน้ำ ทิศทางดิน ทิศทางลม เมื่อรวมคำทั้งสองเป็น ‘บาลา-ฮาลา’ แปลว่า ทิศทางของการอพยพของกลุ่มคน – ที่มา นิตยสารสานสายใยวัฒนธรรม หัวใจเดียวกัน ฉบับที่ 12 ‘ฮาลา – บาลา อเมซอนแห่งอาเซียน

ข้อมูลและภาพจาก southgoodstory เรื่องราวดีๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาคีเครือข่ายภาคใต้ ของ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันประชุมกลุ่มย่อย โดยมีกลุ่มสงขลาฟอรั่ม กลุ่มศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ และกลุ่มยังยิ้ม ณ อำเภอเทพา จ.สงขลา เพื่อวางโมเดลการทำงานและสร้างการสื่อสารในพื้นที่ ในประเด็นการพัฒนาบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน  ระหว่างวันที่ 27 และ 28 ก.พ. โดยเน้นกิจกรรมที่ควรจะสามารถ Spark คนในพื้นที่ด้วยโมเดล “การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง” รวมถึงการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นพลเมืองให้กับเด็ก และเยาวชน รวมทั้งคนในพื้นที่ภาคใต้   โดยวันที่ 28 ก.พ. 60 ภาคีเครือข่ายภาคใต้กลุ่มฐานภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และนวัตกรรม ประกอบด้วยกลุ่ม กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ กลุ่มพัทลุงยิ้ม แล กลุ่มละครมาหยา ได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอโมเดลกระบวนการเรียนรู้ผ่านภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และนวัตกรรม ทั้งในส่วนของประวัติศาสตร์ สื่อพื้นบ้าน ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และSpark แรงบันดาลใจให้กับของเยาวชนในพื้นที่

ชุมชนมีชีวิต เด็กมีพื้นที่เล่น ผู้ใหญ่มีพื้นที่ยิ้ม…. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2558เครือข่ายบางกอกนี้…ดีจัง ชวนมาสนุกกับเทศกาล “เพลินบางกอกนี้…ดีจัง 3 ดีมีชีวิต” บริเวณลานยิ้มริมน้ำคลองบางหลวง วัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ เพื่อเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชน ครอบครัว และคนในชุมชน ร่วมขับเคลื่อนบางกอกให้เป็น “เมืองวิถีสุข” เทศกาล“เพลินบางกอก…นี้ดีจัง 3 ดีมีชีวิต”จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “3 ดี” (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) เป็นกระบวนที่ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมในการลองคิด ลองค้น เรียนรู้ และลงมือสรรค์สร้างกิจกรรมที่มาจากรากฐานของคนในชุมชน การเกิดขึ้นของเทศกาลนี้จากความคิดของคนรุ่นใหม่ในย่านบางกอกใหญ่ เจมส์, ตัน และใบเตย แกนนำเยาวชนในชุมชนร่วมกันเปิดห้องเรียนชุมชน “สื่อดี” สื่อที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เช่น บ้านภูมิปัญญาเรือกระทงกาบมะพร้าว บิดกลีบบัว ภาพเขียนลายรดน้ำ การทำขนมช่อม่วง และการละเล่นพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังได้เปิด “พื้นที่ดี” เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่าน “ภาพศิลปะซอยเล่นซอยศิลป์” ภาพวาดเล่าเรื่องวิถีชีวิตอัตลักษณ์ของดีแต่ละชุมชนบนกำแพงตามตรอกซอกซอย ซึ่งสะท้อนความคิด ความเชื่อ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนผ่านกระบวนการถ่ายทอด และสืบทอดจากรุ่นต่อรุ่นของคนในชุมชนไม่ให้สูญหายไป เสมือนการค้นหารากเหง้าตัวตนของคนในชุมชน เช่น […]

“…เขาก็แสวงหาเพื่อน เราเองก็ต้องการเพื่อน มันจึงลงตัวพอดี พอเขาเห็นกิจกรรมที่เราทำ เขาก็อยากทำงานกับเรา ถ้าใครจะทำงานกับพี่นัดมาเลย ไม่ต้องคอยหลายวัน นัดแล้วลงมือทำงานร่วมกันเลย” เตือนใจ สิทธิบุรี หรือ หลายๆคนเรียกเธอว่า “ป้าป้อม” อดีตนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยวิทยาลัยรามคำแหง สั่งสมประสบการณ์การทำงานพัฒนาและงานค่ายกิจกรรมเห็นต้นทุนทางสังคมของบ้านเกิดจึงมุ่งมั่นสร้างการเรียนรู้ ฟื้นฟูวัฒนธรรม และเชื่อมโยงคนในชุมชน ทั้ง 3 วัยมาเป็นครอบครัวเดียวกัน เริ่มทำงานครั้งแรก ในปี 2530 กับกลุ่มสื่อเพื่อการพัฒนา (AMED) ทำงานกับชาวบ้านในชุมชนแออัด ได้ฝึกกระบวนการคิด และกระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ จนถึงปี 2536 เปลี่ยนมาทำงานที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีโอกาสเดินทางไปการทำงานในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ทำให้เพิ่มพูนทักษะ เทคนิคการทำงานพัฒนา การประสานงานในพื้นที่ และมีเครือข่ายการทำงานมากขึ้น ก่อนกลับมาเป็นบัณฑิตอาสา กับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรมประชาสงเคราะห์เดิม) และร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ ในการทำงานพัฒนาที่บ้านเกิด ในตำบลนาโหนด จังหวัดพัทลุง ทำให้เห็นทุนทางสังคม และศักยภาพของพื้นที่ในด้านเกษตร เกิดตกผลึกทางความคิด จึงตัดสินใจตั้งหลักปักฐานสร้างครอบครัว ที่บ้านเกิดของตนเอง ด้วยการยึดอาชีพเกษตร ทำสวนยาง ทำนา ทำสวนเป็นหลัก ควบคู่การทำงานพัฒนาในชุมชนท้องถิ่น […]

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชนจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาคีเครือข่ายในวาระ10 ปีแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมยุทธศาสตร์และทิศทางของสสย. กับภาคีเครือข่าย ระหว่างวันที่1-3 ก.ค. 59 ณ สถาบันวิชาการ TOT   โดยเช้าวันแรกเริ่มด้วยการเปิดแกลอรี่3ดี ภาคีเครือข่ายสสย. ต่อด้วยการเปิดเวที ชี้แจงวัตถุประสงค์ของงานและการสานสัมพันธ์ภาคีเครือข่าย    และช่วงบ่าย เปิดเวที “9 สู่ปีที่ 10: ผลการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจ” ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการขับเคลื่อนงานของ สสย. ตลอดระยะเวลา 9 ปีและการขับเคลื่อนงานสู่ปีที่ 10  โดยคุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย.   หลังจากนั้นให้ภาคีผลัดกันเล่าประสบการณ์ทำงานในแต่ละกลุ่มในการสร้างการเปลี่ยน แปลงตั้งแต่ระดับเยาวชน สื่อ ชุมชน จนไปถึงระดับนโยบายภายในพื่นที่ของตน เพื่อให้เห็นภาพรวมผลของการเปลี่ยนแปลงของภาคี เครือข่าย สสย.ตลอดระยะเวลาที่ได้ร่วมงานกัน   วันที่สอง (2 ก.ค. 59) ช่วงเช้าเปิดเวทีวันนี้ด้วยประเด็น “ 9 ย่างสำคัญ: ความสำเร็จเชิงสร้างสรรค์” โดยให้ตัวแทนกลุ่ม  บอกเล่าเรื่องราวถอดบทเรียน 9 ย่างสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของภาคีเครือข่ายตัวอย่าง เช่น […]